“จุลพันธ์” ชี้ ลดภาษีสหรัฐ เป็น ศูนย์ไม่ตอบโจทย์ เจรจาปรับกำแพงภาษี ยืนยันต้องไม่สร้างภาระราคาสินค้าในประเทศ เตรียมงบ 5,000 ล้าน ช่วย SME
วันที่ 9 เมษายน 68 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกชี้แจงต่อญัตติ การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาว่า วันนี้เป็นวันที่ดีเป็นวันที่สมาชิกทุกคนร่วมกันอภิปรายในเรื่องที่เป็นปัญหาค่อนข้างหนักอกของประเทศไทยเน้นเรื่องของอัตราภาษีที่ได้เกิดขึ้นใหม่จากสหรัฐอเมริกา ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยที่เป็นประโยชน์ทั้งภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเหตุการณ์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขึ้นกำแพงภาษีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเตรียมการมาเป็นเวลานาน มีการตั้งคณะคณะทำงาน ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมามีการติดตามมาโดยตลอดว่ามาตรการด้านภาษีหากเกิดเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด เชื่อว่าไม่มีกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐใดในโลกที่จะคาดคำนวณได้ เนื่องด้วยสูตรในการคำนวณค่อนข้างที่จะหลุดไปจากหลักการทางเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เป็นการคิดคำนวณที่แปลกประหลาด อย่างแรกเลยคืออเมริกาใช้สูตร Balance of trade หรือเรื่องการขาดดุลทางการค้ามาหารด้วยจำนวนปริมาณสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐอเมริกา เช่นไทยได้ดุลการค้าสหรัฐที่ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการส่งออกไปยังสหรัฐที่ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อหารออกมาจะได้ที่ 72% สหรัฐได้นำมาหารครึ่งและปรับเป็นอัตราภาษี

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โจทก์แรกที่ต้องคิดคือ การห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร พี่น้องประชาชนภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME ภายในประเทศที่จะนำเข้าสินค้าใดก็ตามต้องไม่เป็นการสร้างภาระต่อราคาสินค้าภายในประเทศที่ทางทีมเจรจาจะนำไปพูดคุย ต้องขอบคุณสมาชิกที่อภิปรายโดยไม่ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเอาสิ่งใดไปเจรจาต่อรองระหว่างประเทศในลักษณะทวีปภาคี เนื่องจากการเจรจาในลักษณะนี้รัฐบาลจะนำมากางบนโต๊ะให้ดูได้ทั้งหมดว่ามีอาวุธอะไรอยู่ในสต๊อกบ้าง หรือรัฐบาลมีการเจรจาใดที่นำไปใช้บ้าง ทั้งหมดนี้จะนำมาเปิดทั้งหน้าตักเพื่อให้ผู้ที่ไปเจรจาจะได้ความยืดหยุ่นและมีศักยภาพในการเจรจาเอาผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทีมเจรจาต้องมีความเข้าใจและอาศัยความเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ยาวนาน

ทั้งนี้นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากดูจากประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่มีการประกาศลดอัตราภาษีสหรัฐเป็นศูนย์ สุดท้ายคำตอบที่รับคือยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นจึงต้องมาดูว่าโจทก์ของไทยนอกจากเรื่องอัตราภาษี เรื่องขาดดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกายังมีโจทก์ใดเพิ่มเติม สำหรับการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาเมื่อเกิดขึ้นถือว่า Balance of trade ได้ขยับขึ้นจนกลายเป็น New Normal ของการค้าโลก ดังนั้นต้องอยู่และปรับตัวให้ได้ รัฐบาลเองก็จะช่วยสร้างการปรับตัวให้เอกชนที่ขณะนี้ได้เตรียมวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ส่งออก และ นำเข้าไปยังสหรัฐเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจะมีมาตรการอื่นตามมาโดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ และส่วนอื่นที่รัฐบาลต้องดำเนินต่อ